การฝังศพในวัฒนธรรมบ้านเชียง
|
คนบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์มีการฝังศพโดยฝังสิ่งต่างๆร่วมกับศพ เพื่ออุทิศให้กับผู้ตาย แสดงถึงความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย สิ่งที่พบในหลุมศพ ได้แก่ ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับที่สวมใส่ไว้กับศพ ทั้งนี้ประเภทและปริมาณของสิ่งของก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละศพ แสดงให้เห็นถึงสถานะทางสังคมของผู้ตาย นอกจากนี้ ปริมาณสิ่งของที่อุทิศให้กับศพในสมัยหลังมีเพิ่มมากขึ้นมากกว่าสมัยแรกเริ่ม รวมทั้งแบบแผนการจัดเรียงสิ่งของลงในหลุมศพแต่ละสมัยมีความแตกต่างกัน
โครงกระดูกที่พบหลายศพอยู่ในท่านอนหงาย แขนแนบลำตัว ข้อมือชิดสะโพก ข้อเท้าชิดกัน แสดงถึงการเตรียมศพด้วยวิธีมัด บางครั้งยังพบเศษผ้าหรือรอยประทับของผ้าติดอยู่บนสิ่งของที่ฝังในหลุมศพ ซึ่งอาจเป็นเครื่องนุ่งห่มของศพหรือเศษผ้าคลุมศพ
ลักษณะการฝังศพเมื่อประมาณ 5,600 - 3,000 ปีมาแล้ว
รูปแบบการฝังศพที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ประมาณ 5,600 - 3,000 ปีมาแล้ว แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะได้แก่
1.การวางศพในท่านอนหงายเหยียดยาว ว่างภาชนะดินเผาบรรจุอาหารไว้ที่ปลายเท้าหรือข้างศรีษะ 1 ใบหรือมากกว่านั้น
2. การวางศพในท่านอนงอเข่า ลักษณะนี้ไม่ค่อยพบมากนัก
3. การบรรจุศพเด็กทารกลงในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ในช่วงนี้นิยมวางขวานหินขัดและเครื่องประดับที่ทำจากหินหรือเปลือกหอยทะเลอยู่ร่วมกับศพ
ลักษณะการฝังศพเมื่อประมาณ 3,000 - 2,300 ปีมาแล้ว
(ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง)
|
โดยในยุคนี้นิยมวางศพท่านอนหงายเหยียดยาวและใช้ภาชนะดินเผามากกว่า 1 ใบ ทุบให้แตกเป็นเศษเพื่อโรยคลุมทับศพ บางหลุมศพมีการใช้เศษภาชนะดินเผาปูรองพื้นก่อนวางศพลงไป ส่วนการวางภาชนะดินเผาเต็มใบร่วมกับศพยังคงปรากฏอยู่บ้าง ลักษณะของภาชนะดินเผาทั้งที่นำมาทุบให้แตกและที่ฝังไว้เต็มใบ ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาสีขาวขนาดใหญ่ ส่วนไหล่หักมุมเป็นสัน ตกแต่งด้วยลายขูดขีดและเขียนสีแดงบริเวณใกล้ปากภาชนะ และในช่วงปลายสมัยนี้มักพบภาชนะที่ทาขอบปากสีแดง สำหรับเครื่องมือและเครื่องประดับที่พบในหลุมศพ ส่วนใหญ่ทำมาจากสำริด จนถึงช่วงปลายสมัยจึงเริ่มพบสิ่งของที่ทำด้วยเหล็กประกอบกับสำริด
ลักษณะการฝังศพเมื่อประมาณ 2,300 - 1,800 ปีมาแล้ว
ในช่วงนี้นิยมวางศพท่านอนหงายเหยียดยาวและวางภาชนะดินเผาเต็มใบจำนวนมากทับไปศพ ส่วนการฝังศพแบบใช้เศษภาชนะดินเผาโรยคลุมศพยังคงมีอยู่บ้าง ลักษณะภาชนะดินเผาที่ปรากฏในระยะแรกของสมัยนี้ เป็นภาชนะสีนวลเขียนลายสีแดง ระยะต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นภาชนะสีแดงเขียนลายสีแดง และในระยะสุดท้ายเป็นภาชนะทาน้ำดินสีแดงและขัดมัน สำหรับสิ่งของอื่นๆที่ฝังลูกกับศพสมัยนี้ มีความหลากหลายกว่าสมัยก่อนหน้า นิยมสวมใส่เครื่องประดับให้ศพมากกว่าเดิม โดยพบเครื่องสำริดที่มีรูปแบบสวยงามวิจิตรมากขึ้น ส่วนเครื่องมือที่ฝังไปกับศพส่วนใหญ่ทำจากเหล็ก นอกจากนี้ในหลุมฝังศพเด็กบางหลุมยังมีการฝังลูกปัดแก้วและลูกกลิ้งดินเผารวมอยู่ด้วย
.............................................................................................................................................................................................................
อ้างอิง
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
- Thailand Top Vote (2560). แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ชมแอ่งอารยธรรมมรดกโลก 5,000 ปี. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2560 จาก http://thailandtopvote.com/แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง/.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น