หลวงพระบาง : อัญมณีแห่งอุษาคเนย์
(ที่มา : สบายดีหลวงพระบาง)
|
หลวงพระบาง เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านช้างมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันก็ยังคงเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญของลาว อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมศิลปะที่มีความโดดเด่นทั้งงานสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง และแบบโคโลเนียลที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนและยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ สิ่งที่สำคัญคือทำเลที่ตั้งของเมืองหลวงพระบางที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำคานนั้นมีศาสนสถานและอาคารที่สำคัญหลายแห่งที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการจัดสรรทรัพยากรด้านวัฒนธรรมและการตั้งถิ่นฐานเป็นอย่างดี โดยสิ่งที่น่าสนใจที่อยากจะบอกเล่ากับคุณผู้อ่าน มีดังนี้
วัดเชียงทอง : ศูนย์รวมศรัทธาชาวหลวงพระบาง
(ที่มา : สบายดีหลวงพระบาง)
|
วัดเชียงทอง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ค.ศ 1559 - 1560) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหลวงพระบาง บริเวณที่แม่น้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง มีพุทธสีมาหรือ สิม ตั้งโดดเด่นอยู่กลางขนานไปกับลำน้ำโขง และหันหน้าสิมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดียวกับวัดอีกหลายแห่งของเมืองหลวงพระบาง สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะการวางผังอาคารที่ยืดแนวแม่น้ำและดูทิศทางเป็นหลักผสมผสานกัน สิมวัดเชียงทองถูกออกแบบให้มีป้านลมที่อ่อนช้อยลดหลั่นกันลงมาเกือบจรดฐาน โดยทำหลังคาลด 3 ชั้นและมีชายคาปีกนก ส่วนกลางบนสันหลังคามีเครื่องยอดสีทองสูงขึ้นมา หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายปิดทองรูปวงกลมดอกบัวอยู่ในโครงสร้างของขื่อ ส่วนสถานที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของวัดคือ โรงเมี้ยนโกศหรือโรงเก็บราชรถ ทำประตูหน้านอกแกะสลักเรื่องราวของรามเกียรติ์ โดยช่างแกะสลักชื่อ เพียตัน ช่างฝีมือดีประจำองค์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา แต่เดิมเป็นการลงรักปิดทองแต่ปัจจุบันบูรณะใหม่ด้วยการทาสีทอง
พูสี : พระธาตุใจกลางเมือง
(ที่มา :พระธาตุพูสี)
|
พระธาตุพูสี ตั้งอยู่บนจอมพูสีสูงประมาณ 150 เมตร ปิดทองบริเวณพระองค์ธาตุดูเด่นอยู่กลางเมืองหลวงพระบาง เป็นมิ่งขวัญของชาวหลวงพระบาง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุรุทธ ราวปี ค.ศ 1804 ส่วนที่มาของชื่อว่า พูสี มีตำนานเล่าว่าเริ่มมีฤาษีสองพี่น้องอาศัยอยู่บนภูเขาแห่งนี้ ต่อมาฤษีทั้งสองได้มาปักหลักหมายเขตสร้างบ้านสร้างเมืองคือหลวงพระบางนี้ขึ้น จึงเรียกดอยนั้นว่า พูสี ซึ่งหมายถึงภูเขาของพระฤษี บริเวณภูสีที่มีสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาอีกหลายแห่ง เช่น วัดพระธาตุจอมศรี วัดถ้ำพูสี เนื่องจากวัดที่อยู่บริเวณนี้เป็นวัดป่ากรรมฐานจึงไม่มีการสร้างสถาปัตยกรรมใหญ่ต่อนัก
ถ้ำติ่ง : ถ้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง
(ที่มา : TNT-LAO01)
|
ถ้ำติ่ง เป็นถ้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านป่าอู ในภูเขาลูกใหญ่ที่ตั้งสูงตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำโขง ถ้ำติ่งประกอบด้วย 2 แห่ง คือ ถ้ำติ่งเทิง และถ้ำติ่งลุ่ม สมัยโบราณใช้เป็นที่สักการะบวงสรวงดวงวิญญาณ ผีฟ้า ผีแถนและเทวดา แต่เมื่อศาสนาพุทธเริ่มเข้ามามีอิทธิพล ถ้ำติ่งจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา กล่าวกันว่า เจ้ามหาชีวิตแห่งล้านนาต้องไปสักการะพระพุทธรูปในถ้ำ โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่หลังเสร็จงานบุญที่หลวงพระบางแล้วประมาณ 2-3 วัน พระองค์จะนำข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ พระสงฆ์และประชาชนขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่ถ้ำติ่งแล้วจึงลงมาทำพิธีที่ถ้ำติ่งลุ่ม
ตะวันตกพบตะวันออกในโคโลเนียลสไตล์หลวงพระบาง
(ที่มา : ผสานสเน่ห์ความงามสไตล์โคโลเนียลที่ ทรี นากาส์ หลวงพระบาง เอ็มแกลเลอรี่ บาย โซฟิเทล ) |
บ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของหลวงพระบางอีกอย่างหนึ่งก็คืออาคารรูปทรงโคโลเนียลซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ปี เริ่มใช้เป็นสำนักงานหรือ ห้องการ ของราชการที่รับผิดชอบการปกครองบ้านเมืองและแขวงหลวงพระบาง จุดเด่นของอาคารน่าจะอยู่ที่การใช้รูปทรงแบบตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมผสมผสานกับเทคนิคการสร้างของคนท้องถิ่น เช่น มีการผสมปูนก่ออาคารจากวัตถุดิบธรรมชาติจำพวกน้ำอ้อยและหนังควาย เพื่อให้เกิดความคงทน ขณะเดียวกันก็มีการดัดแปลงรูปแบบของอาคารให้มีความเป็นลาวมากขึ้น ด้วยการประดับผ้าเปล่าปูนปั้นตามความเชื่อทางศาสนาไว้บริเวณหน้าจั่ว
.............................................................................................................................................................................................................
อ้างอิง
- ทัศนัยใช้ใจเดิน. (2559). สบายดีหลวงพระบาง (10 things to do in Luang Prabang). ค้นหาเมื่อ 23 ตุลาคม 2560 จาก https://th.readme.me/p/3904 .
- เอกรินทร์ พึ่งประชา. (2550). มรดกโลก : มรดกแห่งมวลมนุษยชาติ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : ปาเจรา.
- ทัศนัยใช้ใจเดิน. (2559). สบายดีหลวงพระบาง (10 things to do in Luang Prabang). ค้นหาเมื่อ 23 ตุลาคม 2560 จาก https://th.readme.me/p/3904 .
- เอกรินทร์ พึ่งประชา. (2550). มรดกโลก : มรดกแห่งมวลมนุษยชาติ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : ปาเจรา.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น