นิทรรศการพิเศษ " จิ๋นซีฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา "



เมื่อสุสานกองทัพทหารดินเผา จากเมืองซีอานนครแห่งวัฒนธรรมประเทศจีน เดินทางมาจัดแสดงในไทยในชื่อนิทรรศการพิเศษ " จิ๋นซีฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา (Emperor Qin Shi Huang - First Emperor of China)
จัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 15 กันยายน – 15 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา


( ภาพจาก https://www.springnews.co.th/thailand/bangkok/546232 )

         
 นิทรรศการพิเศษนี้ ได้รวบรวมโบราณวัตถุที่สำคัญจำนวน 86 รายการ ทั้งหมด 133 ชิ้น ซึ่งมีอายุกว่า 2
,200 ปี จากพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ 14 แห่ง ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยแบ่งเนื้อหานิทรรศการเป็น 4 หัวข้อหลัก ดังนี้

ส่วนที่ 1 พัฒนาการก่อนการรวมชาติ ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก


          ส่วนนี้จัดแสดงเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการหล่อสำริด เช่น การผลิตอาวุธ เครื่องดนตรี ภาชนะและเงินตรา รวมไปถึงความก้าวหน้าทางการทหาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้แคว้นฉินกลายเป็นจักรวรรดิที่แข็งแกร่งในเวลาต่อมา



ส่วนที่ 2 จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีน ผู้ผนวกโลกมนุษย์และสวรรค์


          ส่วนนี้จัดแสดงถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์จีน เช่น สถาปนาราชวงศ์ฉิน  การผนวกแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น การปฏิรูประบบการปกครอง การกำหนดมาตราหน่วยวัด ระบบเงินตรา ภาษาเขียนและการพัฒนาสาธารณูปโภค และยุคนี้ได้สร้างมรดกขึ้นมาคือ กำแพงเมืองจีน เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรู ยุคนี้ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมอันน่าอัศจรรย์ของโลก

ส่วนที่ 3 สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี มหาอาณาจักรใต้พิภพ


          ส่วนนี้จัดแสดงโบราณวัตุสำคัญจากสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เช่น หุ่นทหารและม้าดินเผา เสื้อเกราะ อาวุธสำริด และรถม้าสำริด ทำให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี ซึ่งการสร้างสุสานแห่งนี้ใช้เวลามากกว่า 40 ปี ครอบคลุมพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร และใช้แรงงานคนจำนวนมหาศาลในการสร้างสุสานแห่งนี้




ส่วนที่ 4 สืบสานความรุ่งโรจน์ ยุคราชวงศ์ฮั่น


          ส่วนนี้เป็นส่วนสุดท้ายของงานนิทรรศการ จัดแสดงโบราณวัตถุในสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่บอกเล่าเรื่องราวประเพณี วิถีชีวิต ความรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรม การปกครอง เกษตรกรรม และเทคโนโลยีทางการทหาร ตลอดจนการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชาติอื่นผ่านเส้นทางสายไหม ทำให้ยุคนี้กลายเป็นยุคทองของงานศิลปกรรมและอารยธรรมจีนอย่างแท้จริง



วัตถุที่หยุดนิ่ง กับสื่อเคลื่อนไหวสิ่งใดน่าสนใจกว่ากัน?



          สำหรับการจัดแสดงของนิทรรศการชุดนี้ มีความน่าสนใจที่นำเอาของจริงมาจัดแสดงให้ผู้ชมได้เห็น แม้จะไม่ได้นำมาทั้งหมด แต่ก็ดึงความสนใจได้ไม่น้อย และยังมีวิดีโอทั้งหมด 3 ชุดที่ทำให้เห็นภาพเกี่ยวกับจิ๋นซีฮ่องเต้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีผู้ที่เข้าชมทั้งชายไทยและชาวต่างชาติ ทำให้วิดีโอที่ใช้จัดแสดงมีคำอธิบายทั้งภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าใจเนื้อหาที่จะนำเสนอได้




          แต่น่าเสียดายเนื่องจากพื้นที่การจัดแสดงที่มีจำกัด จำนวนผู้ชมที่หนาแน่น จอวิดีโอบางจอที่มีขนาดเล็กเกินไปสำหรับจำนวนผู้ชมที่เข้ามาดู และเป็นการยืนชม ไม่มีเก้าอี้ให้ผู้เข้าชมได้นั่งพักชม ทำให้วิดีโอบางชุดมีคนดูบ้าง ไม่ดูบ้าง แทนที่สื่อนี้จะช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ กลับเป็นสื่อที่เต็มไปด้วยอุปสรรคที่จะดูและน่าสนใจน้อยกว่าสื่อที่เป็นวัตถุไปเลย  


          ในขณะเดียวกัน แม้วัตถุที่ใช้จัดแสดงจะไม่มีเสียง ไม่มีการสื่อสารกับผู้ชมได้เท่ากับวิดีโอ การชมทำได้เพียงการมองและการอ่านคำอธิบายจากป้าย แต่กลับได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก อาจเป็นเพราะวัตถุที่ใช้จัดแสดงเป็นของจริงที่บางคนอาจไม่สามารถไปดูของจริงได้ แม้วัตถุจะมีขนาดเล็กขนาดไหนก็ตาม ผู้เข้าก็ให้ความสนใจไม่น้อยลงเลย โดยเฉพาะในการจัดแสดงในส่วนที่ 3 นอกจากผู้เข้าชมจะชมสิ่งที่จัดแสดงแล้ว ยังนิยมไปถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย

การชมนิทรรศการแบบใหม่ ความทรงจำไม่ได้สร้างผ่านสายตาจริง



          ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่งานนิทรรศการจะกลับถิ่นฐานบ้านเกิด ผู้คนก็รีบเข้ามาเยี่ยมชมกันอย่างไม่ขาดสาย ทำให้จำนวนผู้เข้าชมมีมากและอัดแน่นในห้องจัดแสดง ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการเยี่ยมชม กว่าจะได้เดินเข้าไปชมวัตถุและอ่านคำอธิบายก็ใช้เวลาเป็นอย่างมาก ทำให้การเข้าชมต้องมีอุปกรณ์ในการช่วยบันทึกข้อมูลที่สามารถนำมาอ่านย้อนหลังได้นั่นก็คือ โทรศัพท์หรือกล้องถ่ายรูป ทำให้เราจะเห็นภาพผู้คนถือโทรศัพท์หรือกล้องถ่ายรูปติดมือพร้อมถ่ายสิ่งที่ตนสนใจตลอดเวลา



         จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ การชมนิทรรศสำหรับบางคนอาจเกิดจากการตั้งใจชมและเก็บรายละเอียดผ่านความทรงจำส่วนบุคคล แต่สำหรับบางคนอาจเกิดจากการสร้างความทรงจำผ่านรูปภาพหรือสื่ออื่น ๆ ประกอบด้วย การถ่ายรูปนั้นมีทุกเพศทุกวัย แต่ละคนก็ถ่ายต่างจุดประสงค์กันไป การถ่ายรูปงานนิทรรศการนอกจะเป็นการบันทึกข้อมูลแล้วนั้น ยังเป็นการถ่ายรูปคู่กับวัตถุจัดแสดงเพื่อเป็นภาพที่ระลึก ยิ่งเป็นนิทรรศการที่หาดูได้ยากและมีของจัดแสดงที่น่าสนใจแล้ว ยิ่งทำให้ผู้ชมมีความสนใจกับงานนั้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววัยรุ่นจะนิยมถ่ายเพื่อลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้งหลายเพื่อบอกเล่าว่าได้มาเยือนแล้ว แต่กลับกันผู้สูงอายุก็นิยมถ่ายเช่นกันแต่มักจะถ่ายเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ
และมักจะส่งต่อบอกเล่าประสบการณ์ที่ตนได้ไปมา



          จึงไม่แปลกนักหากเราจะพบเจอการนำโทรศัพท์หรือกล้องถ่ายรูปมาใช้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการชมงานนิทรรศการต่าง ๆพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของผู้คนในปัจจุบัน ถูกนำไปปรับใช้กับวิถีชีวิตของผู้คนในหลาย ๆ รูปแบบ การถ่ายรูปถือเป็นสิ่งที่ช่วยเก็บความทรงจำในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ดีที่สุด ในการเที่ยวชมนิทรรศการผู้คนก็นิยมถ่ายรูปเก็บไว้หรือส่งต่อให้กับคนอื่น ทำให้การเที่ยวชมมีความแตกต่างไปจากอดีต คนในปัจจุบันจดจ่ออยู่กับการถ่ายรูป และไม่ได้ใส่ใจกับการเยี่ยมชมนิทรรศการมากนัก แม้นิทรรศการจะไม่ได้จำกัดเวลาการเยี่ยมชม แต่น้อยคนนักที่จะใส่ใจอ่านตัวอักษรที่อธิบายนิทรรศการนั้นอย่างจริงจัง

            หากเราลองลดบทบาทของกล้องถ่ายรูปในการชมนิทรรศการลง แทนที่ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดด้วยความทรงจำ บางทีเราอาจจะได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจที่ซ่อนอยู่ในวัตถุหรือสื่ออื่น ๆ จากการชม และทำให้กล้องถ่ายรูปดูจำเป็นน้อยลง สิ่งที่เคยเป็นภาพอาจถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของความทรงจำและมีคุณค่าต่อบุคคลมากยิ่งขึ้น







นางสาวอุไรวรรณ บุญเกิด
นักศึกษาสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น


ความคิดเห็น